งานจัดการพลังงาน กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม
Energy management

ค่าไฟฟ้าประเทศไทยอยู่จุดไหนในอาเซียน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่ค่อนข้างมีบทบาททางเศรษฐกิจเชิงรุกของภูมิภาค “ค่าไฟฟ้า” เป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน โดยเฉพาะในการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของวิถีชีวิตยุคดิจิทัลในปัจจุบัน แต่ละคน แต่ละบ้านต่างก็มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประเภทใหม่ๆ หลากหลายมาให้ใช้งานกันแบบแทบตลอด 24 ชั่วโมง และอุปกรณ์เหล่านั้นล้วนต้องใช้พลังงานไฟฟ้าในการทำงาน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่หลายๆ ครัวเรือนจะเห็นตัวเลขค่าไฟเพิ่มขึ้น แต่หากลองคำนวณโดยเทียบกับจำนวนหน่วยในการใช้ไฟแล้ว ก็จะเห็นว่าในบางช่วงค่าไฟต่อหน่วยไม่ได้ปรับขึ้นเลย หรือในบางช่วงที่ประเทศไทยมีตัวเลขความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดพุ่งขึ้นมากเป็นพิเศษ ค่าไฟต่อหน่วยก็อาจขยับเล็กน้อยในหลักจุดทศนิยมเท่านั้น ซึ่งยังถือว่า “ตามหลัง” ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศไทยที่แนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง เมื่อดูจากสถิติรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าบางปีสูงขึ้นเกือบแตะ 10% เลยทีเดียว ปัจจุบัน เมื่อเทียบในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน โดยเฉพาะในประเทศที่ค่อนข้างมีบทบาททางเศรษฐกิจเชิงรุก อัตราค่าไฟฟ้าในประเทศไทย จัดอยู่ในระดับกลางๆ แต่ที่น่าสนใจก็คือ หากดูรายชื่อประเทศที่มีค่าไฟต่ำกว่าไทยแล้ว จะพบว่ายังพึ่งพาถ่านหิน เป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่มีต้นทุนต่ำสุดเมื่อเทียบกับแหล่งเชื้อเพลิงประเภทอื่น ขณะที่ ภาคการผลิตพลังงานของประเทศไทยนั้น ส่งสัญญาณชัดเจนในการมุ่งสู่พลังงานสะอาด จากแหล่งพลังงานทางเลือกใหม่ๆ ได้แก่ พลังแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ หรือชีวมวล (ไบโอแมส) เว็บไซต์ https://www.globalpetrolprices.com ได้เผยแพร่ข้อมูลค่าไฟฟ้าของประเทศต่างๆ ณ เดือนมีนาคม 2562 โดยในส่วนของอาเซียน มาเลเซีย มีค่าไฟต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมงที่ 1.8 บาท ตามมาด้วย เวียดนาม 2.4 บาท อินโดนีเซีย 3 บาท ประเทศไทย 3.9 บาท ฟิลิปปินส์ 5.7 บาท และสิงคโปร์ 5.7 บาท โดยเว็บไซต์นี้ระบุสถานะที่น่าสนใจของประเทศไทยด้วยว่า สามารถสร้างรายได้จากค่าไฟฟ้าควบคู่กับการคงอัตราค่าไฟฟ้าไว้ในระดับต่ำได้ ขณะที่ เวียดนามและอินโดนีเซีย ยังคงมีแหล่งถ่านหินสำรองอย่างเหลือเฟือ และใช้เป็นแหล่งเชื้อเพลิงอันดับ 1 สำหรับการผลิตไฟฟ้า อีกทั้งเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาด้านเศรษฐกิจ มีความต้องการใช้พลังงานในระดับสูงเพื่อตอบรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเผยตัวเลขค่าไฟฟ้าของประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ญี่ปุ่น 8.4 ขยับเพิ่มขึ้นจาก 6.6 บาทที่เว็บไซต์ www.statista.com เคยประมาณการณ์ไว้ ออสเตรเลีย 7.5 บาท และเกาหลีใต้ 3.3 บาท โดยส่วนหนึ่งมาจากมาตรการสนับสนุนของรัฐบาลที่จะประคองอัตราค่าไฟฟ้าให้อยู่ในระดับต่ำ เพื่อใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือกระตุ้นการเติบโตด้านเศรษฐกิจ ข้อมูลจากเว็บไซต์สตาติสตา แสดงค่าไฟที่ประเทศในกลุ่มผู้นำเศรษฐกิจทั่วโลกจัดเก็บอยู่ในปี 2561 โดยสหรัฐอเมริกา ค่าไฟต่อกิโลวัตต์/ชั่วโมง อยู่ที่ 3.9 บาท แต่ปีนี้ขยับมาเป็น 4.2 บาท อังกฤษ อยู่ที่ 6.6 บาท ขณะที่ มีตัวเลขล่าสุดของปีนี้ขยับขึ้นมาเป็น 7.5 บาท เว็บไซต์แห่งนี้ ระบุด้วยว่า ปัจจัยที่ทำให้ค่าไฟแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน และแม้แต่ในประเทศเดียวกัน ส่วนหนึ่งมาจากความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน และสภาพทางภูมิศาสตร์ ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ปัจจุบัน สวีเดน เป็นประเทศที่ประชาชนจ่ายค่าไฟต่ำสุดในโลกกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว คือ 6 บาทต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ขณะที่ เยอรมนี กลับรั้งตำแหน่งประเทศที่มีค่าไฟแพงสุดในโลก ด้วยอัตรา 9.9 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) นอกจากนี้ เชื้อเพลิง ที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้าก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญของการตั้งราค่าค่าไฟ ยกตัวอย่าง ประเทศอิตาลี ซึ่งจัดเก็บค่าไฟค่อนข้างแพง (8.1 บาทต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง) ประเทศนี้มีข้อจำกัดในเรื่องการตั้งโรงไฟฟ้าทางเลือกอย่างนิวเคลียร์ เนื่องจากทำเลที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่มีแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง (seismically active area) ดังนั้นหลังเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิด เมื่อปี 2529 จึงมีการปิดโรงงานนิวเคลียร์ในแถบนี้ทั้งหมด ดังนั้นแหล่งเชื้อเพลิงหลักจึงมาจาก ก๊าซธรรมชาติ พลังงานหมุนเวียน ปิโตรเลียม และถ่านหิน ซึ่งแม้ว่าอิตาลี จะมีแหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติใหญ่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป แต่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าอย่างมาก ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของค่าไฟฟ้าแพง จากรายงานฉบับล่าสุด “Southeast Asia Energy Outlook 2019” ที่จัดทำโดยทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) ระบุว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเป็นภูมิภาคที่ขับเคลื่อนแนวโน้มตลาดพลังงานโลกในช่วง 20 ปีข้างหน้า จากความต้องการใช้พลังงานที่มากกว่าเกณฑ์เฉลี่ยทั่วโลกถึง 2 เท่าตัว ตามการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ก็มีความท้าทายเพิ่มขึ้นสำหรับผู้จัดทำนโยบายเช่นกัน ปัจจุบัน แหล่งเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตไฟฟ้าในอาเซียน ยังใช้น้ำมันและถ่านหินเป็นหลัก ซึ่งเป็นตัวก่อปัญหามลภาวะทางอากาศ อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นแนวโน้มการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนขยับตัวสูงขึ้น โดยมีประมาณการณ์ว่าจะขึ้นมาครองสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของการผลิตพลังงานในภาพรวมในอีก 5 ปีข้างหน้า แหล่งพลังงานทางเลือกที่มาแรง ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ (solar PV) และไฟฟ้าพลังน้ำ (hydropower) แต่ทั้งนี้จำเป็นต้องมีนโยบายสนับสนุน ด้วยการปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการสนับสนุนการใช้แหล่งพลังงานทางเลือกใหม่เหล่านี้ด้วย เมื่อพิจารณาบนฐานนโยบายพลังงานฉบับปัจจุบันของภูมิภาคนี้ จะมีความต้องการพลังงานเติบโตขึ้น 60% ภายในปี 2040 ความต้องการน้ำมันจะเพิ่มจาก 6.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นสูงกว่า 9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนถ่านหิน ยังรักษาระดับเติบโตค่อนข้างคงที่ ซึ่งเชื้อเพลิง 2 แหล่งหลักนี้ เป็นตัวการสำคัญในการก่อมลพิษทางอากาศ และเป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพและการเสียชีวิตจากมลภาวะ รายงานฉบับนี้ ได้เสนอแนะแนวทางสู่การสร้างสุขภาวะที่ดีขึ้น และความยั่งยืน ด้วยการกระตุ้นให้มีการเพิ่มการลงทุนพลังงานแหล่งใหม่ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งทำให้เกิดได้เร็วขึ้นผ่านกลไกดึงภาคเอกชนเข้ามาช่วยลงทุน

ปรับปรุงข้อมูล : 31/3/2564 11:33:17     ที่มา : งานจัดการพลังงาน กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม     จำนวนผู้เปิดอ่าน : 1296

กลุ่มข่าวสาร : บทความน่าสนใจ

ข่าวล่าสุด